"พระสมเด็จกรุขุนอินทประมูล"
เป็นพระกรุเก่าแก่ที่ขุดค้นพบที่ วัดขุนอินทประมูล ต.บางพลับ
อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง
วัดเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาและมีโบราณวัตถุที่น่าสนใจ
ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีอนุรักษ์ไว้แล้ว วัดขุนอินทประมูล
เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ใช้เป็นที่วิปัสสนากรรมฐาน
ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนมาตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยสุโขทัย
ถือเป็นชุมชนใหญ่ริมฝั่งคลองบางพลับซึ่งเป็นคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำเจ้าพระยา
จากตำนานสิงหนวัติ กล่าวถึงมูลเหตุการสร้างพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล
โบราณวัตถุสำคัญของวัดไว้ว่าครั้งหนึ่งในสมัยสุโขทัย
พระยาเลอไทได้เสด็จออกจากกรุงสุโขทัยทางชลมารคเพื่อมานมัสการพระฤๅษีสุกกะทันตะ
ผู้เป็นพระอาจารย์ ณ เขาสมอโคน เขตกรุงละโว้
จากนั้นเสด็จกลับโดยล่องมาตามคลองบางพลับเพื่อเสด็จประพาสท้องทุ่ง
และแวะประทับแรม ณ โคกบางพลับ ทรงเกิดศุภนิมิตทอดพระเนตรเห็นดวงไฟดวงใหญ่ลอยขึ้นเหนือยอดไม้แล้วหายไปทางทิศตะวันออก
พระองค์ทรงโสมนัสและดำริให้สร้างพระพุทธรูปไสยาสน์ขึ้น ขนานนามว่า
"พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิตร" ก่อนเสด็จนิวัติสู่กรุงสุโขทัย...
หลังจากนั้น พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิตรก็ถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการดูแล
จนชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
รัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ มีนายอากรตำแหน่งที่ขุนอินทประมูล
นายบ้านบางพลับ เป็นผู้มีจิตใจใฝ่ในการพระพุทธศาสนาอย่างมาก
ได้บูรณะพระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิตร พร้อมทำหลังคาคลุม
และสร้างวัดขึ้น ณ บริเวณดังกล่าว ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัว
พระองค์ทรงเห็นว่าขุนอินทประมูลมีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง
จึงโปรดให้ทำพิธียกเกศทองคำพระราชทานประดับเหนือเศียรพระพุทธไสยาสน์
พระราช ทานนามพระพุทธไสยาสน์ที่บูรณะแล้วเสร็จว่า
"พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล" และพระราช ทานนามวัดว่า "วัดขุนอินทประมูล"
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดขุนอินทประมูลก็ถูกทิ้งร้างอีกครั้งหนึ่ง
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อครั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ตรวจสอบพื้นที่ที่จะสร้างพระมหาพุทธพิมพ์ ที่วัดเกศไชโย
จึงพบวัดขุนอินทประมูล และได้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรให้ทรงทราบ
ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประ มูล
ตั้งแต่นั้นมาได้เริ่มมีการบูรณะและพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งทางวัดได้จัดให้มีงานนมัสการประจำปี ปีละ 2 ครั้ง คือ แรม 7-8
ค่ำ เดือน 5 และ แรม 6 ค่ำ เดือน 11
โบราณวัตถุที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งของวัดขุนอินทประมูล ก็คือ
"พระสมเด็จกรุวัดอินทประมูล"
เรียกตามพุทธลักษณะที่คล้ายพระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์
(โต พรหมรังสี) มีทั้งหมด 3 พิมพ์ คือ พิมพ์พระประธาน พิมพ์ใหญ่
และพิมพ์เจดีย์
ซึ่งทางวัดจะได้มอบแก่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่ามหากุศลสร้างพระอุโบสถหลังใหม่และเป็นหลังแรกของวัด
|